พ่อแม่หลายคนคงจะปวดหัวกับความเอาแต่ใจของลูก พอไม่ได้อะไรดั่งใจก็มักจะร้องงอแงและลงไปชักดิ้นชักงอกลางพื้น ซึ่งถ้าเป็นที่ชุมชนด้วยแล้วก็จะทำให้พ่อแม่รู้สึกอับอายมากทีเดียว แต่การใช้วิธีตีลูกเพื่อแก้ปัญหานั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเสมอไป ดังนั้นวันนี้เราจึงนำวิธีรับมือเมื่อลูกเอาแต่ใจมาฝากกันค่ะ
โดยปกติแล้วการจะสอนให้ลูกไม่เป็นเด็กเอาแต่ใจนั้น จะต้องเริ่มสอนตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ เพื่อปลูกฝังให้กับเขา แต่หากปล่อยละเลยจนเขาโตมาเป็นเด็กที่เอาแต่ใจ พ่อแม่ก็ควรที่จะรับมือเขาด้วยวิธีเหล่านี้ด่วนเลยค่ะ แต่ก่อนอื่นเราไปดูสาเหตุที่ทำให้ลูกเป็นเด็กเอาแต่ใจกันก่อนดีกว่าค่ะ
สาเหตุของความเอาแต่ใจในเด็ก
1.ความเคยชิน
แน่นอนว่าตอนที่ลูกยังเป็นทารกตัวน้อยๆ กินแต่นมแม่นั้น มักจะใช้วิธีการร้องเมื่ออยากกินนมเสมอ ซึ่งนี่ล่ะที่เป็นการสร้างความเคยชินให้กับเขา เมื่อเขาร้องแม่ก็จะเอานมให้กินทันที จึงทำให้เขาเกิดความเคยชินที่ว่าอยากได้อะไรก็ต้องร้องไห้เพื่อให้ได้ตามที่ต้องการนั่นเอง
2.ตามใจมากไป
การตามใจของพ่อแม่ก็เป็นการสร้างนิสัยเอาแต่ใจให้กับลูกน้อยเหมือนกัน เพราะเมื่อเขาอยากได้อะไรพ่อแม่ก็เอาให้ แต่พอไม่ได้ขึ้นมาก็จะงอแงจะเอาให้ได้ ซึ่งพ่อแม่จะต้องใจแข็ง หากใจอ่อนยอมตามใจเขาอีกล่ะก็ เขาก็ยังจะเป็นเด็กที่เอาแต่ใจยิ่งกว่าเดิม จนอาจจะติดนิสัยนี้ไปจนโตเลยล่ะ
แก้ความเอาแต่ใจของลูกน้อย ด้วยวิธีนี้สิ!
1.อย่าตามใจทุกครั้ง
เด็กวัยยี้หากยิ่งเราตามใจมากเท่าไหร่ เขาก็จะยิ่งติดนิสัยเอาแต่ใจมากเท่านั้นและยังอาจจะส่งผลไปถึงตอนโตได้เลยละ ดังนั้นพ่อแม่จะต้องห้ามตามใจเขาเด็ดขาด อาจจะตามใจได้เป็นบางครั้ง แต่ก็ไม่ควรบ่อยและถี่จนเกินไป เอาเป็นว่าตามใจนานๆ ครั้งก็พอค่ะ และควรตามใจในเรื่องที่ถูกที่ควรด้วยนะ
2.สอนให้ลูกช่วยเหลือตัวเอง
ในบางเรื่องที่ลูกสามารถทำได้ด้วยตัวเอง พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องทำให้เขาเสมอไป ให้เขาได้ช่วยเหลือตัวเองบ้าง อย่างการกินข้าว ดื่มน้ำ เก็บของเล่น ทั้งนี้ก็เพื่อฝึกทักษะการช่วยเหลือตัวเองให้กับเขา ซึ่งจะทำให้เขาลดความเอาแต่ใจลงได้มากเลยทีเดียว
3.พาลูกไปเล่นกับเพื่อนบ้าง
เด็กวัยนี้มักจะเรียนรู้จากการเล่นกับเพื่อนมากที่สุด ดังนั้นพ่อแม่ควรพาเขาไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนในวัยเดียวกันบ้าง ซึ่งสิ่งที่เขาจะได้เรียนรู้จากเพื่อนก็คือ การสร้างสัมพันธ์อันดีกับเพื่อน การรู้จักให้ รู้จักช่วยเหลือและการได้รับจากเพื่อน ซึ่งจะทำให้เขาเติบโตเป็นเด็กที่ดีและอยู่ในสังคมได้ง่ายขึ้น
4.ใช้ความอ่อนโยนเข้าช่วย
เมื่อลูกร้องไห้งอแงไม่ยอม จะเอาแต่ใจอย่างเดียว โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ลูกงอแงและชักดิ้นชักงอกับพื้น พ่อแม่ไม่ควรใช้อารมณ์กับลูกในการแก้สถานการณ์ แต่ควรใช้ความอ่อนโยนเข้าช่วย โดยเข้าไปอุ้มกอดลูกแล้วเดินออกมาห่างจากสถานที่นั้นเมื่อทำแบบนี้บ่อยๆ ลูกก็จะเริ่มเข้าใจและลดความเอาแต่ใจลงได้ค่ะ
5.ค่อยๆ สอนให้ลูกเข้าใจ
บางครั้งการที่เขาอยากได้อะไรแล้วพ่อแม่ไม่ซื้อให้ ก็อาจจะทำให้เขาไม่ค่อยใจว่าทำไม เพราะอะไรพ่อแม่ถึงไม่ซื้อให้เขา จึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะต้องค่อยๆ สอนให้เขาเข้าใจ และคอยถามคำเสมอเมื่อเขาอยากได้อะไรสักอย่าง ว่าทำไมเขาถึงอยากได้ อยากได้มากไหม ได้แล้วจะเอามาทำอะไรและทำไมต้องเอาของสิ่งนั้นให้ได้ เพื่อให้เขาได้รู้จักคิด และรู้ว่าตัวเองต้องการสิ่งนั้นจริงๆ หรือเปล่านั่นเอ
6.หมั่นพูดคุยกับลูกอยู่เสมอ
การที่พ่อแม่พูดคุยกับลูกบ่อยๆ และคอยกอดเพื่อให้ความรักความอบอุ่นกับเขา จะทำให้เขารู้สึกได้ถึงความรักความห่วงใยจากพ่อแม่ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้มันยังทำให้เขารู้สึกผูกพันธ์กับพ่อแม่มากขึ้น และยอมเชื่อฟังพ่อแม่จนตัดนิสัยเอาแต่ใจออกไปได้นั่นเอง
ไม่อยากให้ลูกรักเป็นเด็กเอาแต่ใจ คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายอย่าลืมลองฝึกเขาด้วยวิธีเหล่านี้กันดูนะคะ