พระเครื่อง เครื่องราง

การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคท้องร่วง

การรับประทานอาหารที่ไม่สะอาดไม่ถูกสุขอนามัยย่อมส่งผลให้ผู้ถ่ายเสี่ยงต่อการเกิดอาหารเป็นพิษและเกิดโรคท้องร่วงตามมาได้ ยิ่งกับในช่วงหน้าร้อนที่อาหารค่อนข้างเสียเร็วแบบนี้ หากเราดูแลเรื่องอาหารการกินไม่ดีรวมถึงไม่รักษาความสะอาดก็ย่อมทำให้ป่วยมีอาการท้องร่วงอย่างรุนแรงได้เช่นเดียวกัน และวันนี้เรามีคำแนะนำโดยเป็นวิธีดูแลรักษาผู้ป่วยโรคท้องร่วงมาฝาก มาดูกันค่ะว่าทำอย่างไรบ้าง

การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคท้องร่วง
การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคท้องร่วง

1. ให้ผู้ป่วยดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่โออาร์เอส (สูตรขององค์การเภสัชกรรมหรือองค์การจากอนามัยโลก)โดยค่อยๆ จิบทีละน้อยแต่จิบบ่อยครั้ง ให้เทียบเท่าปริมาณที่ถ่ายอุจจาระออกมาในแต่ละครั้ง เพื่อป้องกันการขาดน้ำและเกลือแร่ภายในร่างกาย อีกทั้งการจิบเกลือแร่ยังเป็นการชดเชยการสูญเสียน้ำจากการถ่ายอุจจาระได้ด้วย ถ้าผู้ป่วยเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ให้ดื่มเกลือแร่ครั้งละ 1/4-1/2 แก้ว โดยค่อยๆ ใช้ช้อนตักป้อนทีละน้อยในปริมาณ 1 ช้อนชา ทุก 1-2 นาทีเท่านั้นค่ะ ไม่ควรให้เด็กดูดเกลือแร่จากขวดนมเด็ดขาด เนื่องจากเด็กมีอาการขาดน้ำและร่างกายจะกระหายน้ำมาก เมื่อนั้นเขาจะดูดอย่างรวดเร็วส่งผลให้ร่างกายดูดซึมเกลือแร่ไม่ทันและก่อให้เกิดอาการสำลัก อาเจียนและยิ่งทำให้ถ่ายออกมามากขึ้นได้

การดูแลเด็กที่ป่วยโรคท้องร่วงในเรื่องของการให้อาหาร สำหรับเด็กแล้วไม่จำเป็นต้องให้อดอาหารหรือนม แต่เน้นมาให้อาหารเหลวบ่อยครั้งขึ้น เช่น นมแม่ น้ำต้มจืดและน้ำข้าวต้ม ในกรณีเด็กที่ดื่มนมผสมก็ควรลดปริมาณการผสมให้น้อยลงกว่าเดิมและให้โดยสลับกันกับสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ สำหรับเด็กที่มีอายุ 2 ปีขึ้นไป ควรให้ดื่มครั้งละ 1/2-1 แก้ว โดยดื่มทีละน้อยๆ แต่บ่อยครั้งเช่นกัน เมื่อเด็กเริ่มมีอาการดีขึ้นแล้วจึงหยุดดื่มและให้ทานอาหารอ่อนๆ ที่ย่อยง่ายเพราะจะช่วยให้ระบบลำไส้ได้ฟื้นตัวเร็วขึ้น

2. ถ้าพบว่ามีอาการผิดปกติให้รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล เช่น มีการถ่ายท้องหรืออาเจียนออกมาไม่หยุดมากกว่า 4 ครั้ง กระหายน้ำตลอดเวลาหรือมีอาการปัสสาวะไม่ออก (เนื่องจากขาดน้ำมาก) รวมถึงอาการช็อก หน้ามืดหรือหมดสติ ปวดท้องรุนแรง ไข้ขึ้นสูงหรือปวดเบ่งตลอดเวลาแม้ว่าจะถ่ายไปแล้วก็ตาม (อาการบิด)

การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคท้องร่วง
การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคท้องร่วง

3. ให้ผู้ป่วยขับถ่ายในสุขภัณฑ์ที่ถูกสุขลักษณะและควรล้างมือด้วยสบู่หลังจากขับถ่ายเสร็จแล้วให้สะอาดทุกครั้ง เพื่อป้องกันอหิวาตกโรคที่แพร่ระบาดได้เร็ว

4. นำอาเจียนของผู้ป่วยทิ้งลงในโถส้วม ราดน้ำทำความสะอาดโดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรค เช่น น้ำยาล้างห้องน้ำหรือน้ำยาซักผ้าขาวและราดซ้ำจนสะอาดหมดจดหรือจนมั่นใจว่าทำลายเชื้อโรคได้สะอาดหมดแล้ว

5. ทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ของผู้ป่วย เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ชุดเครื่องนอนทั้งผ้าปู ผ้าห่มและปลอกหมอน ควรซักและตากแดดร้อนจัดเพื่อฆ่าเชื้อโรคให้หมดไป

6. ผู้ที่ดูแลใกล้ชิดผู้ป่วยควรล้างมือด้วยการฟอกสบู่ให้สะอาดอยู่เสมอเช่นกัน เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่ปนเปื้อนจากมือสู่อาหารและป้องกันการติอต่อเชื้อโรคจากผู้ป่วยไปพร้อมกัน

ผู้ป่วยโรคท้องร่วงยิ่งกับเด็กและผู้สูงอายุด้วยแล้ว ยิ่งต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด ที่สำคัญจะต้องให้การใส่ใจเรื่องสุขอนามัยอย่างเคร่งครัดถูกต้อง เรื่องความสะอาดทั้งกับผู้ป่วยและผู้ดูแลจะต้องให้การใส่ใจโดยล้างมือทุกครั้งที่จะหยิบจับอาหารหรือหลังออกจากห้องน้ำ เท่านี้ก็ช่วยป้องกันเชื้อโรคและทำให้อาการป่วยดีขึ้นได้แล้วค่ะ