ผู้หญิงเราเมื่อเข้าสู่ภาวะแห่งการตั้งครรภ์ ร่างกายก็จะดูดน้ำไปใช้ในกระบวนการตั้งครรภ์ค่อนข้างมากประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ทำให้เกิดอาการท้องผูกในคุณแม่ตั้งครรภ์แทบทุกคน ซึ่งเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แต่ถึงอย่างนั้นมันก็นำมาซึ่งปัญหาสุขภาพทำให้เกิดอาการอึดอัดไม่น้อยทีเดียว
ว่าแต่เราควรจะทำอย่างไรจึงจะลดและบรรเทาอาการดังกล่าวได้ และสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้คุณแม่ท้องผูกเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง เรามาติดตามเรียนรู้และเลือกแนวทางปฏิบัติตัวที่เหมาะสมให้กับตัวเองไปพร้อมกันเลยค่ะ

สาเหตุท้องผูกในคุณแม่ตั้งครรภ์
เป็นเรื่องปกติของอาการท้องผูกสำหรับคนท้อง คุณแม่ทุกท่านมักประสบปัญหากับอาการนี้ทั้งนั้น ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจาก…
การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
ดังที่ทราบว่าตั้งแต่เริ่มต้นปฏิสนธิฮอร์โมนจะมีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เริ่มต้นไข่ตกและมีการปฏิสนธิภายในมดลูกของคุณแม่และจะต่อเนื่องจนกระทั่งคลอดโดยเฉพาะฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่มีผลทำให้กระบวนการย่อยของอาหารต่างๆ ช้าลง และทำให้ลำไส้ใหญ่เกิดการดูดซึมน้ำปริมาณมากกว่าปกติทั่วไป
การขยายตัวของมดลูกเข้าไปทดทับลำไส้
เมื่อมดลูกยายตัวใหญ่ขึ้นหลังตั้งครรภ์สักระยะจะไปกดทับลำไส้ ทำให้การหดรัดตัวและการทำงานของลำไส้เคลื่อนไหวช้าลง อุจจาระจึงจับตัวเป็นก้อนแข็งและเกิดอาการท้องผูกตามมา

หลักการแก้ปัญหาท้องผูกในคุณแม่ตั้งครรภ์
1. กินอาหารที่มีเส้นใยอยู่เสมอ
เป็นที่ทราบดีว่าอาหารที่มีเส้นใยนั้นเปี่ยมไปด้วยประโยชน์ต่อร่างกาย ดังนั้นเมื่อคุณเริ่มตั้งท้องควรได้รับอาหารที่มีเส้นใยอย่างเพียงพอ วันละ 20-30 กรัม เพื่อเพิ่มจำนวนกากอาหารให้มากขึ้นและจะสามารถลดอาการท้องผูกได้ กล่าวคือ เมื่อกินอาหารที่มีเส้นใยสูง ใยอาหารเหล่านั้นจะถูกส่งต่อไปยังลำไส้ และเนื่องจากน้ำย่อยในกระเพาะอาหารไม่สามารถทำการย่อยเส้นใยอาหารเหล่านั้นได้ ทำให้ยังคงอยู่ และจะช่วยอุ้มน้ำไว้ เมื่อเส้นใยส่งผ่านมาถึงลำไส้ใหญ่ คุณสมบัติการอุ้มน้ำของเส้นใยจะทำให้อุจจาระอ่อนนุ่ม จำนวนและน้ำหนักจะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย และเคลื่อนที่ผ่านง่ายขึ้น ทำให้กระตุ้นให้ลำไส้ใหญ่เกิดการบีบรัดตัวบ่อย และขับถ่ายสะดวก เนื่องจากอุจจาระไม่เป็นก้อนแข็ง
อาหารที่มีเส้นใยมีดังต่อไปนี้
– ผัก คุณแม่ควรกินผักให้ได้วันละ 200-300 กรัม เช่น มะเขือ ถั่วฝักยาว กระเจี๊ยบ คะน้า ผักกระเฉด ฟักทอง ผักหวาน ใบยอ ผักบุ้ง เห็ด เป็นต้น
– ผลไม้ คุณแม่ควรกินผลไม้วันละ 2-3 ชนิด เช่น มะละกอ ส้มโอ ส้มเขียวหวาน กล้วยน้ำว้าสุก ลูกพรุน แก้วมังกรหรือฝรั่ง เป็นต้น
– ถั่วเมล็ดแห้ง คุณแม่ควรกินถั่วเมล็ดแห้งสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง เช่น ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วเหลืองและถั่วเขียว เป็นต้น
– ธัญพืชที่มีเส้นใยสูง เช่น ข้าวกล้อง ลูกเดือย ข้าวโพด ข้าวโอ๊ต และขนมปังโฮลวีต เป็นต้น

2. ดื่มน้ำสะอาด วันละ 8-10 แก้ว หรือ 1.5-2.0 ลิตร
เมื่อคุณแม่ท้อง ร่างกายจะดูดน้ำไปสร้างน้ำคร่ำและใช้ในกระบวนการตั้งครรภ์ค่อนข้างมาก ทำให้ร่างกายมักขาดน้ำและต้องการเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ ดังนั้น อาการท้องผูกสำหรับคนท้องสามารถป้องกันได้ด้วยการดื่มน้ำเพิ่มขึ้นเนื่องจาก น้ำสามารถช่วยให้อาหารที่ย่อยแล้วผ่านไปยังลำไส้ได้เร็วขึ้น ทำให้กากใยอาหารอ่อนตัว อุจจาระจะได้อ่อนนุ่ม และทำให้ขับถ่ายสะดวกตามไปด้วย
โดยการดื่มควรจิบบ่อยๆ ทีละน้อยๆ ไม่ควรปล่อยให้รู้สึกกระหายเพราะนั่นเป็นอาการเตือนจากร่างกายว่าเริ่มมีอาการขาดน้ำแล้ว และคุณแม่ควรเลือกดื่มน้ำเปล่ามากที่สุดเพราะสะอาดและปลอดภัย และสามารถดื่มน้ำสมุนไพร น้ำผลไม้ เพิ่มเติมได้และไม่ควรหวานมากนัก เช่น
– น้ำผักผลไม้ เช่น น้ำผัก น้ำส้มสด น้ำมะเขือเทศ น้ำมะนาว น้ำลูกพรุน หรือน้ำปั่นต่างๆ เช่น กล้วยปั่น ส้มปั่น มะนาวปั่น แครอทปั่น แอปเปิลปั่น เป็นต้น
– น้ำดื่มสมุนไพร เช่น น้ำมะตูม น้ำมะขาม น้ำกระเจี๊ยบ น้ำเก๊กฮวย น้ำใบบัวบก เป็นต้น
3. เคี้ยวอาหารให้ละเอียด
เคี้ยวอาหารให้ละเอียดทุกคำจะทำให้อาหารย่อยง่ายขึ้น เร็วขึ้น ทำให้ป้องกันอาการท้องอืด แน่นท้อง ไม่สบายท้องซึ่งเป็นสาเหตุหลักของอาการท้องผูก อันเนื่องจากมดลูกที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเมื่อครรภ์มีอายุมากขึ้นโดยเฉพาะเข้าสู่ไตรมาสที่ 2-3 จะไปกดทับกระเพราะอาหารและลำไส้ภายในช่องท้อง ทำให้ทำงานช้าลง

4. แบ่งการรับประทานอาหารให้บ่อยๆ แต่เป็นมื้อเล็กๆ
เพื่อไม่ให้ระบบการย่อยอาหารของคุณแม่ต้องทำงานหนักและดูดซึมได้ง่าย ควรแบ่งการรับประทานอาหารออกเป็นมื้อเล็กๆ ทานบ่อยๆ และควรมีอาหารว่างคั่นระหว่างอาหารหลัก 1-2 เวลาเสมอ จะช่วยลดอาการท้องผูกได้
5. หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้ท้องผูก – เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม เนื่องจากเครื่อ
ดื่มเหล่านี้จะเร่งการขับน้ำออกจากร่างกายส่งผลให้อุจจาระแข็งและขับถ่ายไม่สะดวก
– อาหารที่มีไขมันสูง เช่น อาหารทอดกรอบ เนื้อสัตว์ติดมัน เนื้อสัตว์ที่ผ่านการแปรรูปและกะทิ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ย่อยยาก ทำให้ท้องอืด แน่นท้อง และมีผลโดยตรงต่อการขับถ่าย
– อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ เช่น ลาบ ปลาดิบ อาหารดิบประเภทต่างๆ เพราะทำให้ย่อยยากกว่าอาหารที่ปรุงสุกแล้วซึ่งทำให้ท้องอืดและขับถ่ายไม่สะดวก อีกทั้งหากปรุงไม่ถูกวิธีและวัตถุดิบมีการปนเปื้อนแบคทีเรียจะทำให้เกิดอาการท้องเสียและทำให้ร่างกายขาดน้ำได้
ดังนั้น คุณแม่ที่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ถูกสุขลักษณะ ปรุงสุกใหม่ และปริมาณที่เหมาะสม เพื่อบำรุงและส่งเสริมให้ลูกน้อยในครรภ์ได้รับสารอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการ และเป็นผลดีต่อสุขภาพร่างกายของคุณแม่ระหว่างตั้งครรภ์ด้วย