เมื่อรู้ว่าเริ่มตั้งครรภ์ สัญชาติญาณของความเป็นแม่ก็มักจะถูกปลุกขึ้นมาตามธรรมชาติ ให้เกิดความรัก ความห่วงใย เฝ้าดูแลทะนุถอม เรื่อยไปจนกระทั่งความกังวลว่าจะเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อลูกน้อยที่อยู่ในครรภ์ได้
ซึ่งโดยปกติแล้ว การตั้งครรภ์ส่วนใหญ่มักเป็นไปอย่างราบรื่นและปลอดภัยเสมอ จึงมีก็เพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นจนต้องเฝ้าระวัง หรือติดตามดูแลกันเป็นพิเศษ ต่อไปนี้จะเป็นเกร็ดความรู้เกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนบางอย่างระหว่างตั้งครรภ์ ที่คุณแม่จำเป็นต้องเรียนรู้ เพื่อจะได้รับมือกับความเสี่ยงดังกล่าวไม่ให้ก่อเกิดปัญหายุ่งยากซับซ้อนตามมาในภายหลัง
ภาวะโลหิตจาง
หรือภาวะที่ร่างกายมีระดับของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงต่ำกว่าปกติ เนื่องจากขาดธาตุเหล็ก เป็นโรคธาลัสซีเมีย หรือมีการสูญเสียเลือดในส่วนต่างๆ ของร่างกายมากผิดปกติ เช่น จากโรคริดสีดวงทวาร หรือการมีเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น ซึ่งตามปกติแล้วคุณแม่ที่อยู่ระหว่างตั้งครรภ์จะมีระดับของฮีโมโกลบินลดลงไปเรื่อยๆ แต่ก็จะไม่ลดระดับไปจนถึงจุดที่เป็นอันตราย และจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายหลังจากคลอดบุตรแล้ว 6 สัปดาห์
ดังนั้น คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ก็ควรได้รับการเสริมอาหารที่มีธาตุเหล็กให้มากขึ้น เพื่อป้องกันภาวะโลหิตจาง รวมไปถึงการสูญเสียเลือดในระหว่างคลอด อาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ได้แก่ เนื้อแดงไม่ติดมัน ปลาทะเล ตับ ม้าม ไข่แดง ผักโขม และปวยเล้ง เป็นต้น ทั้งนี้ หากแพทย์ตรวจพบว่ามีภาวะโลหิตจาง ก็อาจจะจัดธาตุเหล็กเสริมให้ โดยควรรับประทานหลังอาหารมื้อหนัก เพราะเหล็กจะทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหาร และทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียนได้
เบาหวาน
ในรายที่คุณแม่ป่วยด้วยโรคเบาหวานก่อนการตั้งครรภ์ ก็ควรระมัดระวังเรื่องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้มากเป็นพิเศษ ด้วยการควบคุมอาหาร รวมทั้งตรวจสอบระดับน้ำตาลอยู่เสมอ ในรายที่เป็นมาก คุณหมออาจให้อินซูลินเพื่อปรับระดับให้เหมาะสม เพราะเมื่อตั้งครรภ์ฮอร์โมนที่ผลิตได้จากรกมักส่งผลกระทบต่อการทำงานของฮอร์โมนอินซูลิน จึงทำให้คุณแม่บางรายมีภาวะเบาหวานอย่างอ่อนๆ ระหว่างตั้งครรภ์ และจะหายไปเองภายหลังจากคลอดได้ไม่นาน
ปากมดลูกปิดไม่สนิท
มักเกิดจากสาเหตุของมดลูกไม่แข็งแรง หรือมีอาการแท้งซ้ำภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน ในกรณีนี้แพทย์มักแนะนำให้มีการผ่าตัดเล็กเพื่อเย็บรูปากมดลูกให้ปิดสนิทในระหว่างตั้งครรภ์ และจะตัดเอาไหมที่เย็บออกเมื่อถึงเวลาเจ็บคลอด
ครรภ์เป็นพิษ
เป็นความเสี่ยงที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าอาจเกิดมาจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือการสร้างฮอร์โมนจากการตั้งครรภ์ที่มากจนผิดปกติ ทำให้คุณแม่มีภาวะความดันโลหิตสูง มีอาการบวมที่มือ หน้า ขา และเท้า รวมทั้งมีโปรตีนออกมาทางปัสสาวะ เป็นภาวะเสี่ยงที่จำเป็นต้องดูแลเอาใจใส่มากเป็นพิเศษ เพราะถ้าหากปล่อยให้ความดันสูงขึ้นจนควบคุมไม่ได้ก็จะทำให้เกิดอันตรายที่ร้ายแรงได้
ดังนั้น คุณแม่ควรรู้จักดูแลตัวเองด้วยการพักผ่อนให้มาก ทานยาลดความดันตามที่แพทย์สั่ง และงดอาหารที่มีรสเค็มจัด เพื่อควบคุมความดันในอยู่ในระดับปกติ อย่างไรก็ดี หากตรวจพบว่ามีอาการรุนแรง ก็จำเป็นต้องเข้ารับการดูแลอย่างใกล้ชิดในโรงพยาบาล เพราะแพทย์อาจวินิจฉัยให้มีการคลอดก่อนกำหนดได้
ทารกตัวเล็กกว่าอายุครรภ์
มักเกิดจากการที่คุณแม่สูบบุหรี่ หรือรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการต่ำ หรือมีปัญหาสุขภาพในระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของทารกโดยตรง ดังนั้น คุณแม่จึงควรงดพฤติกรรมดังกล่าว แล้วหันมาดูแลตัวเองให้มากขึ้น เพราะถ้าหากแพทย์วินิจฉัยพบว่า เด็กมีอาการหยุดการเจริญเติบโต หรือมีภาวะที่น่าเป็นห่วง ก็อาจถูกเร่งให้มีการคลอดก่อนกำหนดได้
การตั้งครรภ์แฝด
มักเป็นสาเหตุให้คุณแม่มีภาวะโลหิตจางมากกว่าปกติ หรือมีอาการครรภ์เป็นพิษได้ ดังนั้น เมื่อรู้ว่ากำลังตั้งครรภ์ลูกแฝดก็ควรเข้ารับการตรวจครรภ์อย่างสม่ำเสมอ และระมัดระวังเรื่องการทรงตัวให้มากเป็นพิเศษ เพราะครรภ์แฝดจะทำให้ร่างกายของแม่เหนื่อยล้ากว่าปกติ จึงควรดูแลตัวเองให้มากขึ้น และพักผ่อนให้เพียงพอ
ตกเลือด
หากคุณแม่มีเลือดออกจากช่องคลอดไม่ว่าจะอยู่ในระยะตั้งครรภ์ใดก็ตาม ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพราะอาจเป็นอาการนำของการแท้งบุตรได้ แต่ถ้าอาการตกเลือดนั้นเกิดขึ้นภายหลังจากระยะตั้งครรภ์ที่ 28 สัปดาห์ ก็อาจมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของรก ซึ่งแพทย์จะแนะนำให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทันที
การแท้งบุตร
หรือการสิ้นสุดการตั้งครรภ์ก่อนสัปดาห์ที่ 28 ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในระยะครรภ์ที่ 12 สัปดาห์แรก และมักพบอุบัติการณ์นี้เพียง 1 ใน 5 ของการตั้งครรภ์เท่านั้น ส่วนใหญ่จะเกิดจากความผิดปกติของตัวทารก โดยจะแสดงอาการตกเลือด ซึ่งเป็นสัญญาณที่คุณแม่จะต้องรีบเข้าพบแพทย์โดยเร็ว หากมีอาการเลือดออกเพียงเล็กน้อย และไม่มีอาการปวด ก็จะสามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้ แต่ถ้ามีอาการเลือดออกมาก และเจ็บปวดมาก แสดงว่าทารกอาจเสียชีวิตไปแล้ว จึงควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณแม่เอง
ดังกล่าวนี้ เป็นภาวะเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นหรือไม่ก็ได้ ดังนั้น คุณแม่ไม่ควรวิตกกังวลจนเกินไป และควรหันมาดูแลเอาใจใส่ตัวเองให้มากขึ้น เพื่อลูกน้อยจะได้กำเนิดออกมาอย่างสมบูรณ์ แข็งแรง เป็นแก้วตาดวงใจของทุกๆ คนในครอบครัว