พระเครื่อง เครื่องราง

ผู้สูงอายุกับโรคต้อกระจก

เมื่อเข้าสู่วัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป อวัยวะต่างๆ ของร่างกายก็ย่อมต้องเสื่อมไปตามระยะเวลาของการใช้งานอันยาวนาน ตามจำนวนปีของ 60+ เฉกเช่นเดียวกัน

ดังนั้น ไม่มีอะไรดีไปกว่าการเตรียมตัว เตรียมใจและเฝ้าระวังอาการต่างๆ อย่างใกล้ชิด การดูแลรักษาร่างกายให้แข็งแรง การกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อวัย การออกกำลังกาย เป็นต้น ก็ต้องไม่ทำร้ายอวัยวะต่างๆ ของร่างกายเพิ่มเติม แต่ถึงกระนั้น ระยะเวลาก็ยังเป็นบ่อเกิดของโรคเสื่อมของตาโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะ “ต้อกระจก” 

ผู้สูงอายุกับโรคต้อกระจก
ผู้สูงอายุกับโรคต้อกระจก

ลักษณะของโรคต้อกระจก

คืออาการของแก้วตาขุ่น ทำให้มองไม่ชัดเจน สาเหตุเกิดจากเลนส์แก้วตาเสื่อมไปตามอายุของคนเรา ทำให้ขุ่นมัว ส่งผลต่อการมองเห็นไม่ชัดเจนตามมา อาการดังกล่าวนี้ เรียกว่า “ต้อกระจก”

สาเหตุของการเกิดต้อกระจก

กลไกการมองเห็น คือ เมื่อมีแสงจากภายนอกผ่านเข้าไปยังเลนส์กระจกตา ม่านตา และเลนส์ตา ส่วนที่ทำหน้าที่ปรับแสงให้ตกกระทบที่จอภาพแล้วทำให้ภาพชัด คือ “เลนส์ตา” ดังนั้น “ต้อกระจก” คือ อาการของคนที่มีเลนส์ตาขุ่นมัว ซึ่งเป็นอุปสรรคทำให้แสงที่มาจากภายนอกไม่สามารถผ่านไปยังจอรับภาพได้สะดวกเต็มที่ ทำให้ภาพที่เห็นไม่ชัดเจนตามไปด้วย ดังนั้น วิธีการแก้ไข คือ ต้องทำให้เลนส์ตากลับมาใสเหมือนเดิม เพื่อให้แสงสามารถผ่านไปยังจอภาพได้อย่างเต็มที่ และกลับมามองเห็นได้ชัดเจนเหมือนดังเดิม 

ผู้สูงอายุกับโรคต้อกระจก
ผู้สูงอายุกับโรคต้อกระจก

ลักษณะอาการเมื่อเป็นต้อกระจก

1.การมองเห็นจะค่อยๆ มัวลงอย่างช้าๆ ไม่มีอาการอื่น ทำให้การมองเห็นไม่ชัดเจน คืออาการที่เด่นที่สุดของการเป็นโรคต้อกระจก และจะเป็นมากขึ้นเมื่อออกไปอยู่ในที่แสงแดดจ้าๆ แต่กลับมองเห็นเกือบเป็นปกติเมื่ออยู่ที่สลัวๆ หรือเวลาพลบค่ำ

2.มีการหักเหของแสงไม่ตกกระทบลงที่จอประสาทตา ทำให้เห็นภาพซ้อน แม้ว่าจะมองด้วยตาข้างเดียวก็ตาม

3.เห็นวงกลมรอบแสงไฟ

4.ต้องใช้แสงจ้ามากๆ ในการอ่านหนังสือ

5.เปลี่ยนแว่นตาบ่อยๆ เนื่องจากการมองไม่ชัดเพิ่มมากขึ้น

6.เริ่มมองเห็นฝ้าขาวกลางรูม่านตา ซึ่งจะเป็นช่วงที่ต้อกระจกเริ่มสุกเต็มที่แล้ว 

ผู้สูงอายุกับโรคต้อกระจก
ผู้สูงอายุกับโรคต้อกระจก

ปัจจัยที่ทำให้เกิดต้อกระจก

– อายุที่เพิ่มขึ้น คือปัจจัยที่มีผลที่สุด โดยพบว่า หลังอายุ 65 ปีขึ้นไปมักมีอาการของต้อกระจก บางคนแก้วตาเริ่มขุ่น หรือเป็นต้อกระจกระยะเริ่มต้น

– ผลจากโรคเบาหวาน

– ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นต้อกระจก

– เคยได้รับอุบัติเหตุที่ตา

– ติดสุรา

– สูบบุหรี่

– เลนส์ตาได้รับการกระทบกระเทือนอย่างแรง หรือถูกกระแทกอย่างแรง

– มักต้องอยู่ในที่แสงแดดมากๆ

– สัมผัสรังสีในปริมาณมาก

– เด็กที่ขาดอาหาร

– การใช้ยาที่มี steroid 

ผู้สูงอายุกับโรคต้อกระจก
ผู้สูงอายุกับโรคต้อกระจก

การดูแลรักษา

1.ควรมีการตรวจร่างกายแต่เนิ่นๆ เช่น อายุ 40-65 ปี ควรมีการตรวจตาทุกๆ 2-4 ปี  และหากอายุ 65 ปีขึ้นไป ควรตรวจตาทุกๆ 1-2 ปี เป็นต้น นอกจากนี้ หากมีอาการเปลี่ยนแปลงผิดปกติจากเดิม ก็ควรรีบตรวจตาเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง และรักษาอย่างทันท่วงที

2.หากเริ่มเป็นต้อกระจกแล้ว ก็ยังไม่สามารถผ่าตัดได้ ต้องรอให้ต้อกระจกสุกเสียก่อน ระหว่างนี้ก็ต้องไปพบแพทย์ตามนัดอย่างต่อเนื่อง

3.ทำการผ่าตัดเมื่อพร้อม เพราะต้อกระจกไม่มีอาการอื่นที่น่าเป็นห่วง  แต่หากมีโรคแทรกซ้อนก็ต้องรีบทำการรักษาอย่างเร่งด่วน โดยแพทย์จะทำการผ่าตัดเอาเลนส์ตาที่ขุ่นมัวออก แล้วนำเลนส์ตาเทียมใส่เข้าไปแทนที่

การดูแลป้องกันรักษาหลังผ่าตัด

– หลังผ่าตัด 1 วัน จะเริ่มมองเห็นชัดเจนขึ้น และอาจมีอาการระคายเคือง ไม่ควรขยี้ตา และต้องสวมแว่นตา จะสามารถมองเห็นชัดที่สุดเมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 4 สัปดาห์แล้ว และอาการที่ต้องเฝ้าระวังและรีบไปพบแพทย์ทันที คือ ตามองไม่เห็น ปวดตาตลอด ตาแดงมากขึ้น เห็นแสงแปลบๆ คลื่นไส้อาเจียน ปวดศีรษะและไอ เป็นต้น

– การป้องกัน คือ ควรงดสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงแสงอาทิตย์ โดยอาจใส่แว่นกันแดดและสวมหมวกปีกกว้าง เป็นต้น

และนี่ก็คือ โรคต้อกระจกกับผู้สูงอายุ เป็นโรคที่ผู้สูงวัยมักจะเป็นกันโดยง่ายทุกคน ดังนั้น หันมาดูแลป้องกันเนิ่นๆ จะดีกว่า