ใครไม่เคยสัมผัสประสบการณ์ของการมีอายุที่เพิ่มมากขึ้นจนเริ่มเข้าสู่วัยที่เรียกว่า “วัยทอง” ก็คงไม่เข้าใจถึงความรู้สึกและการเปลี่ยนแปลงอันนำมาซึ่งอารมณ์แปรปรวนที่ยากจะหาสาเหตุแน่ชัดได้ ไปพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย ความเสื่อมสภาพและการถดถอยลงของความสามารถ แม้ว่าจิตใจจะยังคงเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังอยู่ก็ตาม ทว่าร่างกายกลับไม่เป็นใจและนำมาซึ่งโรคภัยต่างๆ มากมายให้คอยกังวลอยู่ตลอดเวลาโดยในช่วงของวัยทอง สำหรับผู้หญิงจะอยู่ในช่วงอายุประมาณ 50 ปีขึ้นไปหรือเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงที่หมดประจำเดือน ส่วนในผู้ชายมักจะเกิดในช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไปก็ถือว่าเป็นวัยทอง
ผู้ชายกับวัยทอง
สำหรับในวัยทองของผู้ชายนั้น มักจะตามมาด้วยปัญหาของโรคภัยไข้เจ็บยอดฮิต อย่างโรคเบาหวาน ความดัน หัวใจ ภาวะไขมันในเลือดสูง และปัญหาโรคอ้วน ส่วนมากผู้ชายจะต้องพบเจอกับโรคหลอดเลือดไขมัน ส่งผลให้หลอดเลือดตีบ เสี่ยงต่อการเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ง่าย และที่สำคัญในวัยทองของผู้ชายอาจจะต้องประสบกับโรคที่เกี่ยวข้องกับต่อมลูกหมาก อาทิเช่น ปัญหาต่อมลูกหมากโตหรือมะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น ต่อมลูกหมากที่ผิดปกติจะไปส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะยาก ปัสสาวะขัดหรือต้องใช้แรงในการเบ่งมากขึ้นกว่าปกติ นอกจากนั้นอารมณ์ที่แปรปรวน ภาวะเครียดและความกังวลจากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย โดยเฉพาะการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศอันเป็นปัญหารบกวนใจอันหนึ่งต้นๆ ของชายไทย
ผู้หญิงกับวัยทอง
สำหรับผู้หญิงที่เริ่มเข้าสู่วัยทอง มักจะต้องพบเจอกับปัญหาที่มากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะในเรื่องของอารมณ์ที่มีความแปรปรวน จากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนที่ลดลง ส่งผลให้ผู้หญิงวัยทองมักจะมีอาการร้อนตามเนื้อตัว หนาวสั่นในช่วงเวลากลางคืน มีอาการปวดแสบขณะร่วมเพศ เนื่องจากเยื่อบุช่องคลอดมีความแห้งมากขึ้น อาจจะมีปัญหาไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ ปัสสาวะเล็ดบ่อยครั้ง นอนหลับได้ยาก หลับๆ ตื่นๆ ควบคุมอารมณ์ตนเองได้ยาก ผิวหนังเริ่มแห้งและเหี่ยวย่น ปวดเมื่อยตามร่างกาย กระดูกเปราะบางจนอาจจะทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนตามมา ข้อมูลที่กล่าวมาเป็นเพียงแค่โรคของคนวัยทองที่มักจะพบได้บ่อย แต่ทว่าอาการเหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้ในบางราย แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยเหล่านี้ สิ่งที่เราจะต้องคำนึงถึงทำก็คือการทำความเข้าใจและยอมรับกับการเปลี่ยนแปลงให้ได้มากที่สุด เพื่อเราจะได้มีความสุขและอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างสบายใจมากขึ้น
แต่ปัญหาเหล่านี้เราสามารถรับมืออาการไม่ให้รุนแรงกันได้นะคะ โดยควรทำใจให้สบาย ไม่ใจร้อน ห้ามเครียด ควรอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศปลอดโปร่งโล่งสบาย ทานอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายเป็นประจำ รวมถึงนอนพักผ่อนให้เพียงพอด้วย เพราะหากสุขภาพภายในดี ปฏิกิริยาของอาการก็ย่อมตอบสนองออกมาแบบเบาบางลงได้ค่ะ