เท้าเป็นส่วนที่รองรับน้ำหนักทั้งหมดของร่างกายคนเรา และเมื่อคุณแม่ตั้งท้องทำให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น “เท้า” จึงเป็นอวัยวะที่สำคัญในการรองรับการเคลื่อนไหวไปมาต่อเนื่องยาวนานของร่างกายทั้งคุณแม่และทารกน้อยที่อยู่ในครรภ์ และส่งผลกระทบต่อสุขภาพเท้าของคุณแม่ตามไปด้วย
ดังนั้น คุณแม่แต่ละท่านควรให้ความสำคัญและดูแลใส่ใจเท้าเป็นพิเศษเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายต่อตัวเองและส่งผลกระทบไปยังลูกด้วย โดยส่วนใหญ่คุณแม่ที่ตั้งครรภ์มักประสบปัญหาเกี่ยวกับเท้าดังต่อไปนี้
1. เส้นเลือดขอด
เส้นเลือดขอดในหญิงตั้งครรภ์เกิดจากเส้นเลือดดำบริเวณท้องโดนกดทับเมื่อขนาดของครรภ์ที่ใหญ่ขึ้น ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก และส่งผลไปยังเส้นเลือดบริเวณต้นขา น่อง และเท้าไหลเวียนได้ไม่เต็มที่ด้วย จนเกิดภาวะเส้นเลือดขอดตามมา ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติและไม่ส่งผลอันตรายต่อร่างกายของแม่และเด็ก
แนวทางแก้ไข
เนื่องจากสาเหตุมาจากการเป็นไปตามกลไกธรรมชาติของร่างกาย วิธีดูแลรักษาจะเป็นเพียงการบรรเทา โดยเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ และหลีกเลี่ยงการยืนนานๆ เดินนานๆ เปลี่ยนไปเป็นการนอนพัก นั่งในท่าสบายๆ และเปลี่ยนท่านั่งและท่านอนบ่อยๆ เป็นต้น
2. ปัญหากลิ่นเท้า
เนื่องจากขณะตั้งครรภ์จะส่งผลให้มีเหงื่อมากกว่าปกติ และเหงื่อกับความอับชื้น ผสมกับแบคทีเรียที่มีบนผิวหนังทำให้เกิดปัญหาของกลิ่นเท้าได้ โดยเฉพาะการใส่ถุงเท้า รองเท้าตลอดทั้งวันจะทำให้มีเหงื่อได้ง่ายและแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดี
แนวทางแก้ไข
- หลังจากทำกิจกรรมที่เสียเหงื่อ ควรล้างเท้าให้สะอาด และเช็ดให้แห้ง โดยเฉพาะจุดอับและซอกนิ้วเท้า
- ซักและทำความสะอาดรองเท้าบ่อยๆ
- ควรตัดเล็บให้สั้นและสะอาดอยู่เสมอ เพราะเป็นส่วนที่สะสมเชื้อโรคและแบคทีเรีย
3. นวดเท้าเพื่อสุขภาพ
เพราะบริเวณฝ่าเท้าและอุ้งเท้ามีเส้นประสาทอยู่เป็นจำนวนมาก ประกอบกับการรับน้ำหนักของคุณแม่และทารกน้อยมาตลอดทั้งวันและต่อเนื่องยาวนานกว่าจะคลอด ทำให้เกิดความเมื่อยล้า ปวดตามกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ การนวดเท้าสำหรับคุณแม่จึงควรทำ เพราะจะทำให้เกิดความรู้สึกดี ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ หายปวดเมื่อย และกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดด้วย
แนวทางการนวดเท้าสำหรับคุณแม่
- ใช้มือประคองเท้าไว้ และใช้มืออีกข้างหนึ่งนวดเท้าตั้งแต่ปลายเท้าถึงส้นเท้า และนวดฝ่าเท้าไปในลักษณะเดียวกัน และสลับข้าง ทำต่อเนื่อง ประมาณ 5-10 นาที
– นวดนิ้วเท้า โดยใช้อุ้งมารองรับส้นเท้าและใช้มืออีกข้างหนึ่งจับนิ้วเท้าหมุนไปมา หน้าหลังเบาๆ จับทีละนิ้วและจับทั้งหมดทำสลับกัน ใช้เวลาประมาณ 5-10 นาที
ข้อควรระวัง : ไม่ควรมีการนวดแบบกดจุด เพราะอาจทำให้เกิดการกระตุ้นให้มดลูกบีบตัว อาจมีผลต่อการคลอดก่อนกำหนดได้ ควรนวดแบบผ่อนคลาย โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 3 เดือนแรก และ 3 เดือนสุดท้าย
4. การเลือกรองเท้า
หญิงตั้งครรภ์ควรให้ความสำคัญในการเลือกรองเท้าสำหรับตัวเอง เพื่อสุขภาพที่ดีและมีความปลอดภัย ไม่สะดุด ลื่นล้มได้ง่าย หรือทำให้เกิดอาการเท้าบวม
แนวทางแก้ไข
ควรเลือกสวมใส่รองเท้าที่มีความสมดุล ไม่บีบรัด คับแน่น หรือหลวมเกินไป ไม่มีส้นสูง มีสัมผัสนุ่น สวมใส่แล้วเดินสะดวกและสบายเท้า มีพื้นรองเท้าเกาะพื้นได้ดี รวมไปถึงควรรับกับสรีระของเท้าแต่ละคนด้วย ควรเปลี่ยนรองเท้าตามขนาดของเท้าที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุครรภ์ที่เพิ่มขึ้น
5. ส้นเท้าแตก
หญิงตั้งครรภ์ส่วนใหญ่มักมีอาการส้นเท้าแตกระหว่างตั้งครรภ์ เนื่องจากการรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น ความแห้งดึงของผิวหนังคุณแม่ โดยเฉพาะคุณแม่ที่ต้องทำงานในห้องปรับอากาศผิวหนังจะขาดความชุ่มชื้น ทำให้แห้งกร้านและแตกง่าย หรือแม้กระทั่งคุณแม่ที่มีอายุมากขึ้นทำให้เซลล์ผิวหนังเริ่มเสื่อมสภาพ ขาดความชุ่มชื้นก็สามารถเป็นสาเหตุของส้นเท้าแตกได้
แนวทางแก้ไข
– ใช้โลชั่น น้ำมันออย หรือครีม ทาบริเวณส้นเท้าบ่อยๆ เพื่อกระตุ้นและเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับส้นเท้า
– การแช่เท้าในน้ำอุ่นวันละประมาณ 10 นาที แล้วทาด้วยโลชั่น หรือครีม หรือน้ำมันออย ก็สามารถป้องกันส้นเท้าแตกได้และเป็นการทำสปาเท้าอย่างง่ายได้ด้วยตัวเอง
– สวมใส่รองเท้าหุ้มส้น สวมใส่ถุงเท้าหรือรองเท้าลำลองสำหรับคุณแม่ที่ต้องอยู่ในห้องปรับอากาศจะช่วยลดปัญหาส้นเท้าแตกได้
ดังนั้น เมื่อเท้าคืออวัยวะส่วนล่างสุดที่สำคัญที่สุดไม่แพ้ส่วนอื่นๆ คุณแม่จึงควรหมั่นดูแลเอาใจใส่ตามวิธีการต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เพื่อสุขภาพที่ดีต่อตัวคุณแม่และทารกน้อยในครรภ์ด้วย